ประเด็นร้อน

ธรรมภิบาล ปตท. ขัดความรู้สึกสังคม

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 10,2017

 ธรรมาภิบาลปตท.ขัดความรู้สึกสังคม


ป.ป.ช.ยันได้เอกสารไม่ครบ

คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ฉุดความเชื่อมั่นธรรมาภิบาลของปตท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นระบุขัดกับความรู้สึกของสังคม ปตท.แจงต้านคอร์รัปชัน ด้านป.ป.ช.ยันได้เอกสารไม่ครบ

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลด้านธรรมา ภิบาลในการบริหารงานในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก โดยช่วงปี 2559 มีอย่างน้อย 10 รางวัล  ทั้งระดับสากล อย่างการจัดอันดับความโปร่งใสใน 25 อันดับสูงสุด จาก Transparency International  หรือองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
 
การจัดอันดับของนิตยสาร Corporate Governance Asia มอบรางวัล 11th Corporate Governance Asia Recognition Awards 2015, Icon on Corporate Governance ที่ได้รับต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 จนได้รับยกย่องเป็นต้นแบบด้าน CG ของเอเชีย รางวัล Asian Corporate Director Recognition Awards 2015 ได้รับต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

ส่วนระดับในประเทศ เช่น รางวัลผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report: CGR)  ประจำ ปี 2559 ของบริษัทจดทะเบียนไทย: ปตท. ระดับดีเลิศ (Excellent CG Scoring) หรือ 5 ตราสัญลักษณ์ ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการ บริษัทไทย (IOD)

รางวัลต่างๆ นี้ อาจจะไม่ ใช่เป็นเครื่องการันตีถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและโปร่งใสของปตท.ต่อไปก็ว่าได้ เมื่อการตรวจสอบคดีรับสินบนโรลส์-รอยซ์ ของเจ้าหน้าที่ปตท.มีการดำเนินงานอย่างเป็นกระบวนการ และล่าสุดทางป.ป.ช.กำลังเข้าตรวจสอบเชิงลึกอยู่ในเวลานี้

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลขององค์กรต่างๆ ในไทยนั้นได้รับการยอมรับอยู่ในอันดับต้นๆของเอเชีย แต่ในมิติระบบธรรมาภิบาลนั้นเชื่อมโยงกับหลายเรื่อง รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกับความรู้สึกของประชาชนต่อบริษัทขนาดใหญ่ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ประชาชนจับจ้อง เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และเกิดความระแวงกรณีทุจริต

อีกทั้ง การตรวจสอบคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ของปตท. ท่าทีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ระบุต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี และยังกล่าวด้วยว่า อาจมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ไปไม่ถึง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งฟังแล้วรู้สึกท้อ รวมถึงการอ้างเหตุผลต่างๆ นานา อาทิ คดีสินบนข้ามชาติคงจะขอข้อมูลไม่ได้ ซึ่งสังคมไทยกำลังสับสน และอยากฟังข้อเท็จจริงออกมา

"วันนี้สังคมกำลังตั้งคำถามโดยเปรียบเทียบคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ กับคดีของคุณจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ที่คดีนี้ข้อมูลถูกเปิดเผยมาจากทางสหรัฐฯเหมือนกัน และสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ คดีการบินไทย-ปตท.ก็ไม่ควรมีปัญหาความร่วมมือและข้อมูล"

ปตท.แจงยึดธรรมาภิบาล

ขณะที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือชี้แจงคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ตามที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องนั้น นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ชี้แจงว่า ปตท.ได้ให้ความสำคัญกับการยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลขององค์กร ได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทันที เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นำส่งให้แก่ป.ป.ช. โดยปตท.ไม่ประนีประนอมกับการทุจริต (Zero Tolerance) พร้อมทั้งยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนป.ป.ช.อย่างจริงจัง เพื่อให้การสืบสวนเป็นไปอย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม ขอให้รายงานผลสอบของทางการ

นอกจากนี้ ปตท.ได้รวบรวมและนำส่งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ป.ป.ช.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่รับผิดชอบในการสืบสวนโดยตรง และข้อมูลดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนของป.ป.ช.โดยยังมิได้มีผลการสืบสวนใดๆ ประกาศอย่างเป็นทางการ ประกอบกับปตท.ไม่เคยเปิดบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมที่สิงคโปร์ หรือบริษัทอื่นใดเพื่อการรับเงินสินบน รวมถึงการนำเสนอข่าวระบุชื่อบุคคลผู้รับผิดชอบโครงการ หรือระบุว่า เจ้าหน้าที่ปตท.มีการดำเนินงานที่เอื้อต่อการทุจริต อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบุคคลและองค์กรอย่างไม่เป็นธรรมได้

อย่างไรก็ตาม ปตท.ยินดีรับข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกระบวนการทำงาน และขอความอนุเคราะห์นำเสนอข่าวเฉพาะที่มีการรายงานผลตามกระบวนการสืบสวนจนถึงที่สุดแล้วจากหน่วยงานภาครัฐ

ป.ป.ช.ได้เอกสารไม่ครบ

พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุด ซึ่งเป็นองค์คณะไต่สวนอยู่ระหว่างขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐาน และการไต่สวนข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล ซึ่งมีความคืบหน้าแต่ยังต้องดำเนินการสอบปากคำพยานต่างๆ และประสานขอเอกสารบางส่วนจาก ปตท.และปตท.สผ.

"คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุดเป็นองค์คณะในการไต่สวน แต่ยังคงขาดเอกสารบางส่วนจากปตท.และ ปตท.สผ.ที่ทางป.ป.ช. ต้องติดตามเร่งรัดให้ส่งให้โดยเร็ว โดยคาดว่าจะตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ภายในเดือนเมษายนนี้"

ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะคดีการให้สินบนข้ามชาติซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ มีมูลค่าความเสียหายมากและมีลักษณะการ กระทำความผิดที่มีความซับซ้อน

"หลังจากนี้ต้องรวบรวมหลักฐาน และที่สำคัญคือการวิเคราะห์เอกสาร โดยจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 11 เมษายนนี้ เพื่อขอเพิ่มพนักงานเจ้าหน้าที่อีก 6 คน เพื่อให้วิเคราะห์เอกสารหลักฐานที่มีเป็นจำนวนมาก"

- - สำนักข่าว ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 10 เมษายน 2560 - -